วัดพระปฐมเจดีย์ อยู่ใกล้กับกรุงเทพฯ เดินทางประมาณชั่วโมงกว่าก็ถึง
เชื่อว่าหลายๆ คนก็เคยไปมาแล้ว ส่วนตัวก็ไปมาหลายครั้งแล้วเช่นกัน
แต่ถ้าถามประวัติความเป็นมาของวัดก็ไม่รู้จะตอบว่ายังไงเลย
วันนี้เขียนรีวิวเลยได้โอกาสอ่านประวัติของวัดฯ
ประวัติของวัดพระปฐมเจดีย์โดยย่อมีดังนี้
สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช
เมื่อรัชกาลที่ 4 ขณะผนวชได้เสด็จธุดงค์ทรงเห็นเจดีย์ยอดปรางค์
เมื่อทรงลาผนวช ได้เสวยราชสมบัติแล้วในราว พ.ศ. 2396
ได้โปรดให้ก่อพระเจดีย์ใหม่ห่อหุ้มองค์เดิมไว้ พร้อมสร้างวิหารคต
และระเบียงโดยรอบ งานไม่ทันแล้วเสร็จก็สวรรคต
ทั้งนี้ รัชกาลที่ 4 จึงทรงพระราชทานนามใหม่ว่า พระปฐมเจดีย์
ด้วยทรงเชื่อว่านี่คือเจดีย์แห่งแรกของสุวรรณภูมิ นั่นเอง
ในเรื่องนี้ นักโบราณคดีบางท่าน
ได้ระบุว่า พระปฐมเจดีย์ไม่ได้เป็นเจดีย์ที่เก่าที่สุดของสุวรรณภูมิ
แต่เป็นพระมหาธาตุหลวง ในยุคทวารวดีมากกว่า
ต่อมารัชกาลที่ 5 โปรดให้ปฏิสังขรณ์จัดสร้างหอระฆัง
และประดับกระเบื้องจนสำเร็จ เมื่อถึงรัชกาลที่ 6
ปฏิสังขรณ์พระวิหารหลวง เขียนภาพพระเจดีย์องค์เดิมและภาพต่าง ๆ
ไว้ที่ผนังประดิษฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ศรีอินทราทิตย์ธรรโมภาส
มหาวชิราวุธราชบูชนียบพิตร และรัชกาลที่ 7 โปรดให้สร้างพระอุโบสถใหม่
เมื่อปี พ.ศ. 2509 ทางวัดพบว่าตัวองค์พระปฐมเจดีย์มีรอยร้าว
แตกร้าวหลายแห่ง ได้ลงมือทำการบูรณะซ่อมแซม
ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2518 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2524
ค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 24,625,375 บาท รายละเอียดเกี่ยวกับพระปฐมเจดีย์
สูงจากพื้นดินถึงยอดมงกุฏ 120.45 เมตร ฐานโดยรอบวัด 235.50 เมตร
เส้นผ่าศูนย์กลางวัดโดยรอบ 56.64 เมตร
องค์พระปฐมเจดีย์ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า
ทางวัดกำหนดให้มีงานเทศกาลนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์
ในวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 12 ถึงวันแรม 5 ค่ำ เดือน 12
รวม 9 วัน 9 คืน เป็น ประจำทุกปีในช่วงเดือนพฤศจิกายน
ด้านหน้ามีลานจอดรถถ้ามาแต่เช้าเลือกที่จอดได้ตามใจชอบเลย
เดินขึ้นบันไดไปหลายขั้นหน่อย ผู้สูงอายุอาจต้องเดินเกาะราวบันไดซ้ายขวา
เจดีย์ทรงระฆังคว่ำ
พระพุทธรูปศิลาปางคันธารราษฏร์ ศิลปะทวารวดี
สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๕
ประดิษฐานที่บริเวณลานประทักษิณด้านทิศใต้ของพระปฐมเจดีย์
เดินผ่านรอบๆ องค์พระปฐมเจดีย์ เส้นทางนี้ก็จะมีระฆัง
แขวนไม้ให้ใช้ตีระฆังได้ มีต้นพิกุลต้นใหญ่อยู่ด้วยระหว่างทาง
เดินเลาะมาเรื่อยๆ จะเจออุโบสถสีครีมอมชมพูอ่อน
เดินอ้อมมาด้านหน้าจะเห็นพระร่วงโรจนฤทธิ์
สีทองโดดเด่น องค์ใหญ่ตระหง่าน
ประวัติพระร่วงโรจนฤทธิ์
รัชกาลที่ 6 ทรงถวายพระนามว่า "พระร่วงโรจนฤทธิ์
ศรีอินทราทิตย์ ธรรโมภาส มหาวชิราวุธ ราชปูชนียบพิตร"
แต่ประชาชนทั่วไป จะเรียกว่า หลวงพ่อพระร่วง หรือ พระร่วงโรจนฤทธิ์
ขณะที่รัชกาลที่ ๖ ดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระยุพราช
ได้เสด็จตรวจค้นโบราณสถาน เมื่อ พ.ศ. 2452
พบพระพุทธรูปชำรุดองค์หนึ่งจมในพื้นวิหารวัดโบราณในเมืองศรีสัชนาลัย
(จังหวัดสุโขทัย) โปรดให้ขุดขึ้น พบพระเศียร พระหัตถ์
และพระบาทที่ยังดีไม่ชำรุด มีลักษณะงดงาม
ต้องตามพระราชหฤทัยจึงโปรดให้เชิญลงมากรุงเทพฯ
ครั้งเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ จึงโปรดให้สมเด็จฯ
เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ทำรูปหุ่นขี้ผึ้ง
ปฏิสังขรณ์ปั้นให้เสร็จบริบูรณ์เต็มองค์ และโปรดเกล้าฯ
ให้จัดพระราชพิธีเททองหล่อขึ้นเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2456
ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานครฯ
พระร่วงโรจนฤทธิ์ มีขนาดความสูงวัดจากพระบาท
ถึงพระเกศ 7.42 เมตร เป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ
ศิลปะแบบสุโขทัย ทำด้วยโลหะทองเหลือง หนัก 100 หาบ
การอัญเชิญพระร่วงโรจนฤทธิ์เมื่อพ.ศ. 2457 จำเป็นต้องแยกชิ้น
และมาประกอบเข้าด้วยกันที่จังหวัดนครปฐม
แล้วเสร็จเป็นองค์สมบูรณ์ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2458
รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าในพระราชพินัยกรรม
ให้บรรจุพระอังคารของพระองค์ท่านไว้ในใต้ฐานพระนี้ด้วย
และในพ.ศ. 2529 รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้เชิญพระอังคารของ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี
ในรัชกาลที่ 6 ไปบรรจุไว้เคียงข้าง
พระบรมราชสรีรางคารของรัชกาลที่ 6 ที่ใต้ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์
พระบรมรูปรัชกาลที่ 5 บริเวณไม่ไกลจากพระร่วงโรจนฤทธิ์
ถ้าอยู่ถึงช่วงเย็นลานด้านข้างองค์พระปฐมเจดีย์
จะกลายเป็นตลาดโต้รุ่งขายอาหาร
และขนม รวมถึงร้านไอศครีมเจ้าดัง ไอศครีมลอยฟ้า
ที่ตั้งของวัด ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
เปิดตั้งแต่เวลา 07.00-20.00 น. ค่าเข้าชมสำหรับชาวต่างประเทศ 40 บาท
การเดินทาง
รถยนต์ : จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางสายเก่า
สายถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4)
ผ่านอ้อมน้อย อ้อมใหญ่ สามพราน ไปจนถึงจังหวัดนครปฐม
หรือเส้นทางสายใหม่ จากกรุงเทพฯ ถนนบรมราชชนนี
ผ่านพุทธมณฑล นครชัยศรี ไปจนถึงตัวจังหวัดนครปฐม
สังเกตป้ายบอกทางไปพระปฐมเจดีย์
รถโดยสาร : มีรถตู้ กรุงเทพฯ – นครปฐม ขึ้นรถที่สายใต้ปิ่นเกล้า,
รถทัวร์ ขึ้นรถที่สถานีขนส่งสายใต้ ปอ.1 เบอร์ 997 หรือ ปอ.2 เบอร์ 83
จุดจอดรถตรงองค์พระปฐมเจดีย์
ข้อมุลประวัติวัดพระปฐมเจดีย์จากเว็บไซต์
Ⓒ สงวนลิขสิทธิ์ ไม่อนุญาตให้นำรูปในบล็อกนี้ไปใช้